พุทธาวาสแห่งอนัตตจักรวาล, Buddhavas of the Substanceless Universe

คุณอยู่ที่นี่,You are here⇙🚩.
https://goo.gl/maps/WrCzXVRGZL72

English

Chainese

   
 
1. ชื่อพุทธาวาสแห่งอนัตตจักรวาล หมายความว่า
    พุทธาวาส หมายถึง เขตที่ประทับของพระพุทธเจ้า หรือ สถานที่ประดิษฐานของพระบรมสารีริกธาตุ
    อนัตตจักรวาล หมายถึง จักรวาลภายใต้กฎไตรลักษณ์  (เพราะบังคับบัญชาไม่ได้ จึงไม่เที่ยง เพราะไม่เที่ยงจึงเป็นทุกข์ หรือจักรวาล    ภายใต้กฎอนัตตา คือจักรวาลที่พระพุทธเจ้าทรงไขความลับ และทรงอธิบายไว้
                                    *** กฎไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา
                                    อนิจจัง คือ ทุกสิ่งทุกอย่างไม่เที่ยง  (แปรปรวน)         
                                    ทุกขัง คือ ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นทุกข์  (ทุกข์)
                                    อนัตตา คือ ทุกสิ่งทุกอย่างควบคุมบังคับไม่ได้   (ไม่ใช่ตัวตน)

2.  เมื่อผ่านเข้าสู่ประตูอินทราไชย ใช้แนวความคิดคติเรื่องไตรภูมิ ของพระมหาธรรมราชาลิไท ที่มีเขาพระสุเมรุ เป็นแกนกลางของจักรวาล บนยอดเขาพระสุเมรุ คือสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ อันเป็นที่สถิตย์ของพระอินทร์ ช้างเอราวัณ และจุฬามณีเจดีย์สถาน 

                           ประตูอินทราไชย คือ ประตูแห่งความเจริญ ความดีงาม และชัยชนะของพระอินทร์ เหนือสิ่งชั่วร้ายทั้งปวง ผู้ที่ผ่านซุ้มประตูนี้จึงถือได้ว่าได้รับพรจากองค์อินทร์ และช้างเอราวัณ

ประตูอินทราไชย
                       
                        ไพชยนต์ปราสาท เป็นที่ประ
ทับพระอินทร์ องค์จอมเทพผู้ปกปักษ์รักษาพระโพธิสัตว์ผู้บำเพ็ญบารมี เพื่อพระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ ทุกๆพระองค์

 ไพชยนต์ปราสาท

                       
                        จุฬามณีเจดีย์สถาน  มีสัญลักษณ์คือปรางค์ ๕ ยอด ของมหาวิหารเป็นสัญลักษณ์ หลอมรวมอำนาจทางโลกกับพระพุทธานุภาพแห่ง สมเด็จพระบรมศาสดาในพระบวรพุทธศาสนาไว้ ณ แกนกลางของปรางค์ประธาน ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งความเป็นพระจักรพรรดิราช เหนือทวีปทั้ง 4 ที่เป็นอมตะไม่ดับสูญ

            3. มหาวิหารวชิรธรรม ภายในพุทธาวาสแห่งอนัตตจักรวาลนี้มีความหมาย ดังเช่นรูปลักษณ์ทางสถาปัตยกรรมภายนอก ที่ได้แรง บันดาลใจมาจากความยิ่งใหญ่ของกรุงศรีอยุธยา ยุครุ่งเรืองแห่งราชวงศ์ปราสาททอง ที่การทหารมีอำนาจเหนืออาณาจักรขอมโบราณ ทำให้เกิดวิวัฒนาการทางวัฒนธรรมของสยาม ก้าวขึ้นไปอีกช่วงหนึ่ง กล่าวคือ เป็นกระบวนการที่หลอมรวมบุคคลทั้งหลาย ครอบครัวทั้งหลาย แล้วผนึกเชื้อชาติ ประชาชาติและรัฐทั้งหลายให้เป็นองค์เอกภาพแห่งมวลมนุษย์ชาติ โดยมีเขาพระสุเมรุในคติไตรภูมิเป็นสัญลักษณ์ขององค์เอกภาพนั้น และมีรูปแบบที่เหมือนกันอย่างยิ่งกับพระปรางค์วัดอรุณ ของสมเด็จพระนั่งเกล้าที่เป็นลักษณะ ๕ ยอด นั่นคือ พระเจ้าแผ่นดินทรงเป็นธรรมิกราชา ผู้บำเพ็ญเพียรเยี่ยงพระโพธิสัตว์เจ้า ไปจนถึงใกล้เคียงกับพระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ

มหาวิหารวชิรธรรม 

            ทั้งหมายความถึงการ หลอมรวมพระราชอำนาจทางโลกกับพระพุทธานุภาพแห่ง สมเด็จพระบรมศาสดาในพระบวรพุทธศาสนาไว้ ณ แกนกลางของปรางค์ประธาน ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งความเป็นพระจักรพรรดิราช เหนือทวีปทั้ง 4 ที่เป็นอมตะไม่ดับสูญและยังคงไว้ซึ่งลักษณะแห่งกฎธรรมชาติที่ดำรงอยู่ในจักรวาลไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ซึ่งคือ “ความว่างแห่งศูนย์กลาง” หรือก็คือ “ความไร้ตัวตนแห่งจิตที่ยึดถือ” นั่นก็คือธรรมชาติที่แท้ความสงบที่แท้จริง, และการเป็นหนึ่งเดียวกับ จักรวาลที่เป็นอนัตตาในที่สุด

               
                        ดังนั้นเมื่อเรามองพระมหาวิหารวชิรธรรมแห่งนี้ซึ่งก็หมายความถึงธรรมที่ใช้ประหารความมืด ดุจแสงของวชิระที่สว่างจ้า ผ่าแยกท้องฟ้าและจักรวาลที่มืดมิดออกไปในชั่วกระพริบตานั้น จึงเปรียบได้กับปัญญาญาณที่เกิดขึ้นจากจิตที่เป็นสัมมาสมาธิที่เกิดขึ้นเพียงชั่วแล่น และพาจิตเข้าสู่นิโรธโดยการดับกิเลสทั้ง 5 คือ โลภ โกรธ หลง ทิฐิ มานะ
                        เช่นนั้นเอง ผู้ที่มองด้วยสติและเกิดปัญญาญาณเช่นนั้นแล้วก็ย่อมเห็นปริศนาธรรมในขันธ์ทั้งหลายตามลำดับดังนี้
                        รูป        คือ        องค์มหาวิหารวชิรธรรม และอาคารบริวารโดยรอบที่ตาเห็น
                        เวทนา   คือ        ความรู้สึกที่มากระทบประสาทสัมผัสซึ่งตัวสติจะพิจารณาความ ชอบ - ชัง - เฉยๆ ที่ปรากฏขึ้นในใจ
                        สัญญา   คือ        ความระลึกได้ ในเครื่องหมายของพระรัตนตรัย เช่น พระพุทธรูป , พระธรรมจักร ที่เราจำได้หมายรู้จากประสบการณ์ในอดีต
                        สังขาร   คือ        ความระลึกนึกคิดที่จะทรงไว้ซึ่งอริยมรรคและมุ่งสู่อริยผล คือพระนิพพาน ซึ่งหมู่สัตว์ยินดีได้โดยยาก
                        วิญญาณ คือ       ใจของผู้มอง หรือจิตของพระโยคาวจร ที่หากฝึกฝนด้วยการปฏิบัติ สมถะกัมมัฏฐานและวิปัสนา  กัมมัฏฐานด้วยดีแล้วจึงสามารถรู้แจ้งในกระบวนการของจิต และข้ามสู่ฝั่งโลกุตระด้วยการละกิเลสต่อไป

                        จึงมิใช่ว่าการสร้างพระมหาวิหาร ถวายพระพุทธเจ้าทั้ง ๒๘ พระองค์และ พระอนาคตพุทธเจ้าอีก ๑ พระองค์นั้น จะมี ความหมายเพียงแค่การเป็นอามิสบูชาในพระรัตนตรัยเท่านั้น แต่รวมไปถึงการปฏิบัติบูชาในสมถะกัมมัฏฐานและวิปัสนากัมมัฏฐาน เพื่อให้เข้าถึงความหลุดพ้นตามแนวทางคำสอนของพระตถาคตเจ้า ตามลำดับ ดังนี้ ๑.ศีล   ๒.สมาธิ  ๓.ปัญญา   ๔.วิมุติ   ๕.วิมุตติ-ญาณทัสสนะ

วิหารอุภโตวิมุติ

                        ส่วนองค์ประกอบที่เป็นพระวิหารอื่น ๆ ในเขตพุทธาวาสนี้ก็มีความหมายถึงการเข้าถึง วิมุติ ในลักษณะที่ต่างกัน ๓ ประการ นั่นคือ ปัญญาวิมุติ เจโตวิมุติ และอุภโตวิมุติ ซึ่งเป็นรายละเอียดของการเรียนพระกัมมัฎฐาน หรืออุบายในการฝึกฝนจิตให้เปลี่ยนจาก สังขตธาตุ เป็น อสังขตธาตุ ที่สืบทอดมาจากพระศาสดาโดยมีพระอัครสาวกเป็นพระอาจารย์ผู้บอกพระกัมมัฎฐานองค์ต้นในสายนั้น ๆ ซึ่งล้วนแล้วแต่มีความพิสดารโอฬารไม่เหมือนกันแต่ก็สามารถสำเร็จอริยผลในพระนิพพานได้ในที่สุด ถึงความรู้แจ้งอันหนึ่งอันเดียวกัน มีความรู้ในองค์ธรรมอันเดียวกัน และล้วนเป็นอริยมรรคอันเดียวกันและเป็นเช่นนั้นเองในทุกกาลสมัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้ง ๒๘ พระองค์ และเป็นเช่นนี้ในพระพุทธเจ้าทุกๆพระองค์

               4. พระพุทธศรีสรรเพชญดาญาณแห่งกรุงศรีอยุธยา (หลวงพ่อโต) สร้างอยู่ ณ มุมทิศตะวันตกเฉียงเหนือของพุทธมหาวิหารวชิรธรรม พุทธาวาสแห่งอนัตตจักรวาล เพื่อน้อมถวายเป็นพุทธบูชาแด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และสร้างขึ้นเพื่อยกย่องเชิดชูบูรพกษัตริย์สมัยกรุงศรีอยุธยาคือ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช และสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี)ที่ทรงอุปถัมภ์ค้ำชูพระพุทธศาสนาสยามวงศ์ให้ดำรงไว้สืบมา และต่างมีความผูกผันกับองค์พระประธานของกรุงศรีอยุธยามากที่สุด อันเป็นหัวใจของกรุงศรีอยุธยา ปลุกความรักชาติ การหลอมรวมอาณาจักร หลังจากที่กอบกู้บ้านเมือง พระองค์ทรงถวายแผ่นดินเพื่อให้เป็นพุทธบูชาบูรพกษัตริย์ทั้ง 2 และเหล่าขุนพลจึงสมควรแก่การยกย่องเชิดชู อีกทั้งยังเป็นหลักฐานสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงความเจริญงอกงามของพระพุทธศาสนาในดินแดนสยามประเทศ

พระพุทธศรีสรรเพชญดาญาณแห่งกรุงศรีอยุธยา (หลวงพ่อโต) 

                    หลวงพ่อโตของพุทธมหาวิหารวชิรธรรมองค์นี้ สร้างขึ้นโดยมีพระศรีสรรเพชญดาญาน พระประธานแห่งวัดพระศรีสรรเพชญ
พระอารามหลวงในพระบรมมหาราชวังสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นต้นแบบ ลักษณะเป็นพระพุทธรูปปูนปั้นปางห้ามพระแก่นจันทร์(ศิลปะสมัยอยุธยาตอนกลาง) สูง 16 เมตร หันพระพักตร์ไปทิศตะวันออก ประดิษฐานในซุ้มเรือนแก้วที่มีพระประจำวันเกิดประดิษฐานอยู่

                        อีกด้านมีพระปางป่าเลไลย์ ศิลปะสมัยอยุธยา พระประจำวันพุธกลางคืน ประดิษฐานอยู่ทางด้านหลังองค์พระพุทธศรีสรรเพชญดาญาณแห่งกรุงศรีอยุธยา (หลวงพ่อโต) อีกหนึ่งองค์ อันหมายรวมว่าสร้างขึ้นมาเพื่อชาวโลกที่นอกจากจะมากราบไหว้พระพุทธศรีสรรเพชญดาญาณแห่งกรุงศรีอยุธยา (หลวงพ่อโต) ยังได้กราบไหว้พระประจำวันเกิดของตัวเองด้วย เพราะมีพระประจำวันอยู่ในที่นี่ครบทุกองค์แล้ว


พระพุทธปาลิไลยกะ แห่งกรุงศรีอยุธยา (พระประจำวันพุธกลางคืน)

                        บริเวณเศียรขององค์พระ ได้ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุของพระสมณโคดม และนำดิน ประดิษฐานไว้บริเวณฐานพระ โดยเป็นดินที่นำมาจากเมืองหลวงที่เคยปรากฎ เช่น วัดมหาธาตุ (สุโขทัย) / วัดพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช (ตามพรลิงค์) / วัดพระศรีสรรเพชญ (อยุธยา) / วัดสระเกศ (กรุงเทพ) / วัดพลับ (ธนบุรี) / พระราชวังเดิม (ธนบุรี) / เจดีย์จุลประโทน (นครปฐม) / วัดพระพุทธชินราช (พิษณุโลก) / พระบรมธาตุไชยา (ศรีวิชัย) และบริเวณด้านหน้ามีพระแม่ธรณีบีบมวยผม ประทับนั่งที่พญานาคห้าเศียรแผ่พังพานพ้นน้ำ ซึ่งมีอยู่แห่งเดียวในประเทศไทย

                        พระพุทธเมตตา สร้างขึ้นตามแบบพระประธานในมหาเจดีย์พุทธคยา เมืองคยา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย เป็นพระพุทธรูปปาง มารวิชัย และบริเวณฝาผนังโดยรอบมหาวิหารวชิรธรรมยังปรากฎ พระพุทธเจ้าเป็นจำนวนมาก อันหมายถึงพระพุทธเจ้าที่บังเกิดขึ้น ในอนัตตจักรวาลมาแล้วเป็นล้านๆพระองค์ 


เจดีย์อุปปาตะสันติ 

                        หมู่พระธาตุประจำปีเกิด / เจดีย์อุปปาตะสันติ ตามคติความเชื่อดั้งเดิมโบราณที่มีสืบต่อกันมากล่าวว่า วิญญาณเราเกิดมาจากพระธาตุประจำปีเกิด หากมีวิริยะอุตสาหะเดินทางไปกราบไหว้พระธาตุอันเป็นมิ่งขวัญ เพื่อขอพรแม้เพียงสักครั้ง เมื่อสิ้นอายุขัยลง จิตดับพ้นไปจากภพภูมิปัจจุบัน วิญญาณก็จะกลับไปสถิตกับองค์พระธาตุดังเดิม นับเป็นกุศโลบายให้เกิดกุศลจิตเมื่อระลึกถึงความอิ่มเอมใจ ที่ได้ไปกราบสักการะองค์พระธาตุเจดีย์ คือ มีพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง จึงทำให้ดวงจิตนั้นเดินทางเข้าสู่สุคติภูมิ บริเวณภายในองค์พระธาตุยังเป็นที่ประดิษฐานของพระบรมสารีกริกธาตุ และดินที่อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ประจำเจดีย์แต่ละองค์ 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

  เมืองโบราณ สมุทรปราการ  ( รวบรวม เพื่อ รักษา , สืบสาน เพื่อ สร้างสรรค์ , เปิดประตู เพื่อ ส่งผ่าน) ยินดีต้อนรับสู่เมืองโบราณ พิพิธภัณฑ์เอกช...